อาจารย์แอน แฟนคลับ

อาจารย์แอน แฟนคลับ
พวกเรา คือ ครอบครัว อาจารย์แอน แฟนคลับ

22/8/54

วันนี้..วันพระ (๒๒ สิงหาคม ๕๔) โดย อาจารย์แอน




โดย อ.ษณอนงค์ คำแสนหวี (อาจารย์แอน)



วันนี้เรามาใคร่ครวญพิจารณาถึง “ความว่างจากโลกธรรม ๘” เพราะบางครั้งเวลาเราทำสมาธิ จิตก็สงบดี อะไรที่เหมือนปลงไม่ได้ก็ปลงได้วางได้ในเวลานั้น แต่หลังจากไปวัด ไปนั่งสมาธิกลับมาแล้ว เราก็อยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เราก็รู้สึกแบบเดิม ประกอบสมาธิ และ ตบะของเรายังไม่ถึงขั้น เพราะมีเวลาฝึกน้อย อารมณ์ที่ถือว่าเป็นความเป็นไปในโลกแบบธรรมดาทั้ง ๘ ประการเข้ามาครอบงำโดยไม่รู้ตัว เราก็เพลิดไปกับอารมณ์นั้น

ดังนั้นเวลาเรานั่งสมาธิ นิวรณ์จึงเข้ามากวน คือ ความฟุ้งซ่านในแต่ละเรื่อง ทำให้ปฏิบัติไปไม่ถึงไหน

มาทำความรู้จักกับโลกธรรม ๘ ประ การ ศัตรูผู้ขวางทางการปฏิบัติของเรา
๑.ความทุกข์ ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายมาก ทุกคนรู้จัก อะไรที่ไม่ได้ดังใจคือทุกข์ทั้งนั้น แก้ด้วยคำว่า อย่าเปรียบเทียบ พยายามอย่าเอาจิตออกนอกตัวต้องมีสติกำกับ ไม่มองคนอื่น ไม่สนใจใครจะมีจะจน จะสวย จะหล่อ จะรวย เราพึ่งตนเองตามกำลัง ความสามารถและสติปัญญา และความเพียรพยายาม ดังคำที่ว่า “บุคคลล่วงทุกข์ ด้วยความเพียร”

๒.ความสุข เป็นสิ่งที่มีในโลกที่ทุกคนยินดีต้อนรับ แต่มาไม่นาน เพราะเราติด จึงเกิดตัณหา อยากให้สุขมันเรื่อยไปทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ เราจงคิดว่า รู้ทุกข์ จึงรู้สุข สุขก็สุขแต่ปานกลาง ไม่โลภ จิตพอเพียง พยายามได้แค่ไหนก็มีความสุขกับคำว่าพอ และ คำว่า “ยังดีกว่า” เราไม่ได้อะไรที่สมบูรณ์หรือล้ำหน้าคนอื่นไปเสียทุกด้าน และทุกคนก็เหมือนเรา คิดอย่างนี้ เราก็หันมาพิจารณาเฉพาะตัวเรา และแก้ไข ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ สุข คือ จิตที่ผ่องใส เมื่อรู้แล้วก็ต้องประคอง ทั้งการกระทำ และอารมณ์ให้นิ่งอยู่อย่างนั้น สุขใดไม่เท่ากับความสุขที่เกิดจากคำว่า “ พอ ”

๓.สรรเสริญ ในโลกนี้ เราทำถูกใจก็ได้รับคำสรรเสริญเป็นธรรมดา หน้าตา กิริยาของเราเป็นที่ถูกใจก็ได้รับคำสรรเสริญ เราเก่งนำประโยชน์มาสู่ชุมชน เขาก็สรรเสริญ เป็นเรื่องปกติ แต่จงรู้ตัวว่า ที่เขาชมให้มากให้น้อยอย่างไร เราก็เป็นของเราอย่างนี้ ควรพิจารณาให้ดียิ่งขึ้นไป ด้วยการพัฒนา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้อยู่กับตัวเรา

๔.นินทา ไม่มีใครที่ไม่ถูกนินทา แม้องค์พระปฏิมายังราคิน ถ้าไม่ทำให้ชีวิตเราต้องเปลี่ยนแปลงไป เราก็ไม่ต้องสนใจ แต่ถ้าเอิกเกริกไป ก็ต้องมีการชี้แจงเมื่อมีโอกาสและจังหวะที่เหมาะสม อย่าเป็นทุกข์ แล้วเขาก็ไปนินทาคนอื่นต่อ วนเวียนอย่างนี้ สำหรับคนช่างนินทา ถ้าเขารักเราทำอย่างไรเขาก็รัก ถ้าเขาชัง ทำอย่างไรก็ชังอยู่ดี อยู่ที่เราพิจารณาตัวเองว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องดูตัวเองอย่างเป็นธรรม

๕.ได้ลาภ เมื่อเราไปตามลำดับของโลกกำหนด ให้เรียนรู้ ประกอบอาชีพ มีครอบครัว เราทำครบ ทำงานก็ได้รับเงิน ทำงานมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย ค้าขายมีกำไรดีทั้งมากและน้อย ต้องรู้จักได้และเสีย เมื่อได้ลาภ ก็เก็บ ให้งอกเงยไว้เผื่อตอนเสื่อมลาภ ไม่ดีใจจนเหลิงเมื่อได้ ทำใจเป็นกลาง ได้ก็ได้ ใช้ให้เป็น ใช้ในที่ควรใช้

๖.เสื่อมลาภ มีได้ก็เสื่อมได้ ไม่มีใครได้ตลอด ผิดมนุษย์ เมื่อเสียนั่นแหละเรื่องปกติ ขยันไว้เดี๋ยวก็วนกลับมา โลกเราเป็นวัฏจักรอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่แน่นอน

๗. ได้ยศ บางคนมีตำแหน่ง ก็แสดงอำนาจบาตรใหญ่ลืมไปว่าวันหนึ่งก็ต้องแก่ วันหนึ่งก็ต้องเสียบารมี สมบัติผลัดกันชม ไม่มีใครได้ไว้ตลอดกาล เมื่อได้ ก็ทำให้ดีที่สุด และ

๘.เสื่อมยศ ถึงเวลาที่สูญหายไปหมด ยศศักดิ์ อำนาจ บารมี ถ้าเราเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่คิดว่า ยศศักดิ์เป็นของเรา เขาให้มาก็คืนได้ ทำใจได้อย่างนี้ก็ไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตเรา พยายามดำเนินชีวิตให้ไม่ประมาท เพื่อไม่ต้องอาศัยยศช่วยเหลือ


ยังมีแถมอีกว่า เราทั้งได้พบปะคนที่รักชอบ และที่ไม่รักไม่ชอบ เหมือนกันหมด เป็นของที่เป็นธรรมดา เป็นของที่มีอยู่ในโลก ความพยายามในการปฏิบัติของเรา คือ พยายามให้ว่างจากโลกธรรม อย่าไปให้ความสำคัญ ฟูมฟาย ปริเวทนา พิไรรำพัน เพราะไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ต้องเจออยู่ดี จงทำตามพุทธวจนะ “จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด” พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนมากมายเกินไป เพราะจะทำให้โลกธรรม ๘ เข้า
มากวน จิตก็ไม่ว่าง จะวางได้สักที

วันพระนี้ ขอให้ตั้งใจทำจิตให้ว่างจากโลกธรรมนี้ จะเป็นกุศล อย่างน้อย วันนี้จิตเราก็ผ่องแผ้ว แจ่มใส สามารถทำสมาธิได้สงบสมความตั้งใจ ...อนุโมทนา...













5/8/54

The Chant of Metta




บทสวด เจริญอัปมัญญา









วันนี้วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดย อ.แอน





บทความธรรมะ โดย อ.ษณอนงค์ คำแสนหวี (อาจารย์แอน)

วันนี้วันพระ


มีคำถามสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติว่า “บุญ” คือ อะไร เป็นความหมายที่ต้องอธิบายกันยาว แต่ขอตัดความสั้น ๆ ว่า การทำบุญ หรือ บำเพ็ญบุญ เป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ โดยต้องทำให้ถูกหลัก ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางรากฐาน ของการทำบุญ อย่างชัดเจน ความหมายของ “ผู้มีบุญ” คือ ผู้กระทำบุญอยู่เป็นนิตย์ จนทำบาปไม่ขึ้น เรียกว่า บุญคุ้มครอง ไม่ใช่ความหมายที่แลกเปลี่ยนว่าทำบุญแล้วจะไม่มีบาป ไม่มีเรื่อง ไม่มีมารมากวน ต้องแยกแยะ ว่า กรรมก็ส่วนกรรม ทุกคนมีวิบากกรรมเป็นของตนทั้งสิ้น จะแย่งหรือจะบ่งให้กันไม่ได้ ใครทำใครรับ นั่นเอง

การบำเพ็ญบุญที่ถูกต้องคือ

๑.การให้ทาน เป็นการขจัดความโลภ ทั้งให้ฝึกจิตปล่อยวาง เราสังเกตตัวเองว่า เมื่อเราให้ทาน ด้วยใจบริสุทธิ์ สิ่งที่เกิดขึ้นในจิต คือ ความผ่องใส ปิติ ปราศจากอคติใด ๆ ทั้งสามารถละวาง ขจัดความโลภ โกรธ และ หลง ยิ่งมาก ความเสื่อมในจิตก็ลดลง สังเกตได้จากความประพฤติของเราเอง ทั้งยังคิดไม่ดี วาจาก็ไม่ดี ทำอะไรออกมาก็เดือดร้อนคนอื่น ยิ่งคิดให้ร้ายคนอื่นด้วย ผูกโกรธ ผูกอาฆาต ยังนี้ไม่เรียกว่าบำเพ็ญบุญ


จะขอยกกลอนของท่าน พระครูวิมลปรีชามาให้อ่าน

อันบุญทานการให้อุ่นใจหนา
ชื่นอุรา ผาสุกทุกสถาน
อันการให้ไม่ทุกข์สุขสำราญ
ใจชื่นบานผ่องผุดดุจพุทธองค์
ขอเชิญชวนมวลมนุษย์ชาวพุทธเอ๋ย
อย่าละเลยทำดีที่ประสงค์
ตามรอยยุคลบาทบริสุทธิ์ของพุทธองค์
แล้วถือธงยอดธรรมสร้างกรรมดี
จะเจริญเพลินสุขทุกสถาน
ทั้งการงานก้าวหน้าพาสุขี
ทำสิ่งใดได้ชมสมฤดี
ชื่นชีวีเพราะมีบุญค้ำจุนเอย

๒.การถือศีล เพื่อชำระจิตให้สะอาดไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ปราศจากความโกรธ หรือคิดประทุษร้าย คิดทำลาย และเบียดเบียน หากใครมีสิ่งเหล่านี้ ในนิสัยความประพฤติแสดงว่าเป็นผู้ไม่มีศีล คนมีศีลจะมีใจเมตตา ปรารถนาดีต่อกันและให้อภัย ไม่มีเวรภัยต่อกัน

๓.การบำเพ็ญภาวนา ปฎิบัติธรรมทำสมาธิ ทำให้จิตคลายความหลง เห็นผิดเป็นชอบ รอบรู้ฉลาด และรู้จริง สร้างสติ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้อะไรเป็นอะไร









รวมแล้ว คือ การให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา ใครมีครบ มีประจำ สม่ำเสมอ คือ ผู้มีบุญ ทำองได้เอง และได้แน่นอน ไม่มีจริง ปลอม


การได้บุญก็เท่ากับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง มีบุญเท่ากับมีทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะทุกอย่างสำเร็จด้วยอำนาจแห่งบุญ บุญมีอำนาจสูงสุด และเป็นขุมทรัพย์ อันประเสริฐสุด

ขออนุโมทนากับผู้บำเพ็ญบุญทุกท่าน.....สาธุ

ท่านสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ www.sana-anong.com