อาจารย์แอน แฟนคลับ

อาจารย์แอน แฟนคลับ
พวกเรา คือ ครอบครัว อาจารย์แอน แฟนคลับ

28/7/53

หริตจชาดก
เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระบรมศาสดาครั้งเสวยพระชาติเป็นดาบสผู้ได้อภิญญาและหลงอยู่ในกามฉันทะทำให้เสื่อมจากฌาน จากเรื่องราวในชาดกตอนนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ที่ต้องผ่านและเข้าถึงอารมณ์ต่างๆ เพื่อจะได้นำมาสอนและโปรดสัตว์ทั้งหลายให้พ้นภัยจากกามกิเลสนี้ ดังเรื่องราวที่ปรากฏดังนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีสมบัติแปดสิบโกฏิในนิคมแห่งหนึ่ง มารดาบิดาได้ขนานนามให้พระองค์ว่า หริตจกุมาร เพราะพระองค์มีผิวเหลืองดังทอง

สังเกตได้ว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย จะมีความพิเศษต่างๆกันในแต่ละชาติ เช่น ผิวพรรณเหลืองดังทองทา เพราะการถือศีลบำเพ็ญพรต บางชาติมีความสามารถพิเศษ เพราะอำนาจแห่งการบำเพ็ญในด้านความเพียร บางชาติมีพละกำลังมหาศาล เพราะฝึกฝนสมาธิจิตถึงขั้นสมาบัติ เป็นต้น

ครั้นกุมารนั้นเจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาที่เมืองตักศิลา รวบรวมทรัพย์ไว้ ครั้นมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ได้ตรวจตราดูทรัพย์สมบัติได้ความคิดขึ้นว่า ทรัพย์เท่านั้นที่ยังปรากฏอยู่ ส่วนผู้ที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นหาปรากฏอยู่ไม่ (หมายถึงมารดา บิดา) แม้เราก็ต้องแหลกละเอียดไปในปากแห่งความตาย ดังนี้คือกลัวต่อมรณภัย จึงคิดให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วเข้าไปยังหิมวันตประเทศบวชเป็นฤาษี

ในชาดกทุกเรื่องจะเห็นได้ว่า พระโพธิสัตว์จะมีอุปนิสัยที่หันเข้าหาการบวชเป็นปกติ ทั้งนี้อยู่ที่ใจจดจ่อเป็นสัญญาในทุกภพที่จะแสวงหาความสงบ และการบำเพ็ญถือเพศพรหมจรรย์ ดังนั้น ด้วยความใฝ่ในธรรมที่มีมาทุกๆชาติ การปฏิบัติจึงมีผลเร็ว ในวันที่เจ็ดก็ได้บรรลุฌาน ได้อภิญญาห้าและสมาบัติแปด และยังชีพด้วยเผือกมันแลผลไม้ในป่าเป็นอาหาร

พระดาบสดำรงชีพอยู่ที่นั้นเป็นเวลานาน ต่อมาก็มีความรู้สึกอยากเสพอาหารที่มีรสเค็มรสเปรี้ยว สรุปแล้วคือการเปลี่ยนรสชาติอาหารให้เพิ่มรสไปจากความจำเจ เพราะธรรมดาเหล่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ต้องมีเหตุที่จะทำให้เกิดเรื่องราวที่ต้องละขาด หรือเรียนรู้เพื่อตัดขาดให้ได้นั่นเอง ดังนั้นท่านจึงลงจากบรรพต เดินทางโดยลำดับถึงพระนครพาราณสี เข้าไปอาศัยยังอุทยานหลวง เพราะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากพระราชาแห่งกรุงพาราณสีทุกพระองค์ จะต้องบำรุงเหล่าพระดาบส ฤาษี หรือผู้บำเพ็ญเพียรเสมอ

ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรเห็นพระดาบสนั้นมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งให้นิมนต์นั่งบนราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ให้ฉันโภชนะที่มีรสอันเลิศต่างๆ
ความตอนนี้เป็นที่น่าสังเกตุว่า ผู้แสดงธรรมควรได้รับความเคารพอย่างยิ่ง นับแต่โบราณเพราะแม้แต่พระมหากษัตริย์ เมื่อจะฟังธรรม ต้องนิมนต์พระดาบสนั่งบนราชบัลลังก์ เป็นการให้ความเคารพธรรมนั้นอย่างสูงสุด

เมื่อดาบสฉันแล้วอนุโมทนาจบลง พระองค์ยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น ตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้าจะเสด็จไป ณ ที่ใด” เมื่อพระดาบสถวายพระพรว่า “อาตมาภาพเที่ยวหาที่จำพรรษา มหาบพิตร” พระราชามีพระทัยยินดี จึงทรงพาพระดาบสไปที่พระราชอุทยาน รับสั่งให้สร้างที่เป็นที่พักกลางคืนและเป็นที่พักกลางวันเป็นต้นถวายพระดาบส ให้คนรักษาพระราชอุทยานเป็นผู้คอยปฏิบัติ จากนั้นทรงอภิวาทแล้วเสด็จกลับ จากนั้นมาพระมหากษัตริย์ ได้นิมนต์พระดาบสมาฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์อยู่ตลอดเป็นระยะเวลาถึงสิบสองปี

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาจะเสด็จไปปราบประเทศชายแดนที่ก่อความไม่สงบขึ้น ทรงมอบหมายพระดาบสโพธิสัตว์ไว้แก่พระราชเทวีว่า “เธออย่าลืมกระทำกิจ อันเป็นเนื้อนาบุญของเราเป็นอันขาด” แล้วก็เสด็จไป นับแต่นั้นมาพระราชเทวีได้ทรงอังคาสพระโพธิสัตว์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเหล่าบริพาร

ครั้นวันหนึ่งหลังจากที่พระนางทรงเตรียมโภชนะอาหารไว้เรียบร้อยแล้ว พระดาบสยังไม่มา พระนางจึงลงสรงสนานด้วยน้ำหอม แล้วทรงนุ่งพระภูษาเลี่ยนเนื้อละเอียด แล้วรับสั่งให้เผยสีหบัญชร ประทับบนเตียงน้อยให้ลมพัดต้องพระวรกายอยู่ ขณะนั้นเองพระดาบสโพธิสัตว์ก็นุ่งหมเรียบร้อยแล้วถือภาชนะสำหรับใส่ภิกษาอาหาร เหาะมาถึงสีหบัญชร พระราชเทวีได้ทรงสดับเสียงผ้าสบัดในอากาศ ก็เสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว พระภูษาก็เลื่อนหลุดหล่นลง อารมณ์ของความกำหนัดยินดี ทั้งกิเลสที่หมักดองอยู่ภายในจิตหลายแสนโกฏิปี ประหนึ่งอสรพิษที่นอนขดอยู่ในข้อง ก็เกิดกำเริบขึ้นกับพระโพธิสัตว์ในวินาทีนั้น ทำให้ฌานนั้นเสื่อมลง พระโพธิสัตว์ไม่อาจดำรงสติไว้ได้จึงเข้าไปจับพระหัตถ์พระราชเทวี แล้วทั้งสองก็รูดม่านลงกั้นในทันใดนั้น เสพโลกธรรมด้วยกัน ครั้นแล้วพระโพธิสัตว์ก็ฉันภัตตาหาร แล้วเดินไปพระราชอุทยาน ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้ทำเช่นนั้นทุกๆวัน

กิเลสนี้ช่างน่ากลัวนัก การปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมานานแสนนาน ทั้งมีจริยาน่าเลื่อมใสอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาถึงสิบสองปีได้เสื่อมลง ทั้งนี้ พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญบารมี เรียนรู้อารมณ์ที่น่ากลัวนี้เพื่อรู้วิธีที่จะละวางได้เด็ดขาด

ข่าวการที่พระโพธิสัตว์เสพโลกธรรมกับพระราชเทวีได้แพร่สพัดไปทั่วพระนคร พวกอำมาตย์ได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระราชาว่า หริตจดาบสได้ละเมิดจารีตไปเสียแล้ว แต่พระราชายังมิทรงเชื่อ โดยทรงพระดำริว่า พวกอำมาตย์ประสงค์จะทำลายเรา จึงได้กล่าวให้เราเสียสติดังนี้ ครั้นทรงปราบประเทศชายแดนให้สงบลงแล้วก็เสด็จกลับพระนครพาราณสี ทรงทำปทักษิณพระนครแล้วเสด็จไปสำนักพระราชเทวีมีพระดำรัสถามว่า “เราได้ข่าวว่าหริตจดาบส พระผู้เป็นเจ้าของเราเสพโลกธรรมกับเธอ เป็นความจริงหรือ” พระราชเทวีตอบว่า “จริงเพคะ” พระราชายังไม่ทรงเชื่อแม้พระราชเทวี ทรงดำริว่าจักถามพระดาบสนั้นเอง จึงเสด็จไปพระราชอุทยาน นมัสการแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรด้วยความเคารพ แล้วตรัสถามว่า “ข้าแต่มหาพรหม โยมได้ยินว่าพระหริตจดาบสบริโภคกาม คำเช่นนี้เป็นการใส่ร้าย คงไม่เป็นความจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่หรือ”

พระดาบสโพธิสัตว์คิดว่า เมื่อเราทูลว่าเรามิได้บริโภคกาม พระราชานี้ก็จักทรงเชื่อเราเท่านั้น แต่ว่าในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่มั่นคงเท่ากับความสัตย์เป็นอันไม่มี เพราะผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าวแต่คำสัตย์เท่านั้น จริงอยู่ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี กาเมสุมิจฉาจารก็ดี สุราบานก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่มุ่งกล่าวให้คลาดเคลื่อนหักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย คิดดังนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ จึงกล่าวรับเป็นสัตย์ว่า “ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำมาแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น อาตมาภาพหมกหมุ่นในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลงเดินทางผิด”

พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น มีพระประสงค์จะช่วยให้พระดาบสได้ดำรงอยู่ในพรหมจรรย์ต่อไป จึงตรัสว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมดาเภสัชย่อมเป็นที่พึ่งของคนไข้ น้ำดื่มเป็นที่พึ่งของคนกระหายน้ำ ปัญญาที่ละเอียดคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้ว และปัญญาของท่านมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร เหตุไรท่านไม่อาจใช้ปัญญานั้นบันเทาความคิดที่แปลกไปจากเพศที่ดำรงอยู่ได้เล่า”

พระดาบสตอบว่า “ข้าแต่มหาบพิตร กิเลสสี่อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ มทะ โมหะ เป็นของมีกำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสรัดรึงแล้วปัญญาก็หยั่งไม่ถึง คือผู้นั้นเป็นเหมือนคนตกลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ย่อมไม่ได้ปัญญาเป็นที่พึ่ง”

พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าได้ยกย่องท่านอย่างนี้ว่า หริตจดาบสเป็นพระอรหันต์มีศีลบริสุทธิ์ ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นบัณฑิตมีปัญญาแท้ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า ขอให้ท่านจงมีความเพียรในการใช้ปัญญาประหารกิเลสอันเป็นเครื่องผูกมัดนั้นเถิด”

หริตจดาบสตอบว่า “ข้าแต่มหาบสพิตร ความตรึกที่ไม่สะอาด เป็นไปด้วยการยึดถืออารมณ์ว่างาม ประกอบด้วยความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา หรือผู้ยินดีแล้วในคุณธรรมของฤาษี”

พระราชามีความเพียรพยายามที่จะให้หริตจดาบสเกิดความเพียรอุตสาหะขึ้นในจิตเพื่อละกิเลส จึงตรัสขึ้นอีกว่า “ความกำหนัดนี้เกิดขึ้นในกาย ครั้นเกิดขึ้นแล้วเป็นของประทุษร้ายรัศมีกายและคุณความดีของท่าน ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านก็จะเป็นผู้ที่ชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นบัณฑิต”
ในขณะนั้นเอง พระโพธิสัตว์ได้ฟังแล้วกลับได้สติ ด้วยอำนาจแห่งความดีที่บำเพ็ญเพียรมาสามารถกำหนดโทษของกามทั้งหลายได้ทันที

“อาตมาภาพทราบว่ากามเหล่านั้นก่อความมืดมนในจิต ทำให้ปัญญาจักษุถึงความพินาศ มีทุกข์มากเพราะมีความแช่มชื่นน้อยแต่มีพิษใหญ่ เพราะพิษคือกิเลส คือวิบากเป็นของยิ่งใหญ่ อาตมาภาพจะค้นหามูลรากของกามเหล่านั้นด้วยจิตที่ผ่องแผ้วตัดความกำหนัดพร้อมกับเครื่องผูกพันคือนิมิตหมายอันดีงาม ด้วยดาบคือปัญญา”

เมื่อพระดาบสโพธิสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ได้ขอประทานโอกาสว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์จงประทานโอกาสแก่อาตมาภาพก่อน” แล้วเข้าไปยังบรรณศาลาพิจารณาดวงกสิณ ยังฌานที่เสื่อมแล้วให้เกิดขึ้นอีก จากนั้นก็ออกจากบรรณศาลา นั่งบัลลังก์ในอากาศ ถวายธรรมเทศนาแด่พระราชาแล้วทูลว่า
“ข้าแต่มหาบพิตร อาตามภาพถูกติเตียนในท่ามกล่างมหาชน เพราะเหตุที่มาอยู่ในที่ไม่สมควรขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท บัดนี้อาตมาภาพจักกลับไปสู่ไพรสณฑ์ให้พ้นจากกลิ่นสตรี ”

พระราชามีความโศกเศร้าปริเทวนาอยู่ที่พระฤาษีจะกลับสู่หิมวันต์ประเทศ แต่ก็ปิติยินดีในฌานแห่งฤาษีที่กลับคืนมา จากนั้นฤาษีก็เข้าสู่หิมวันตประเทศ ไม่เสื่อมจากฌานตลอดชีวิต

พระศาสดาตรัสเรื่องนี้ให้พุทธบริษัทสี่เห็นภัยแห่งกามกิเลส ทรงประกาศสัจจะ เวลาจบสัจจะ ภิกษุผู้กระสันได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผลก่อน แล้วพระทศพลทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้นได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ หริตจดาบสในครั้งนั้นได้มาเป็นเราตถาคต แลฯ

29 มิถุนายน 2009 in
อ่านนิทานชาดก

ขอบคุณ
http://www.tanatitham.com/

6 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29/7/53 14:17

    อ่านเรื่องนี้แล้วได้คิดว่า กิเลสสามารถเกิดได้กับทุกคนนะคะ แม้แต่พระโพธิสัตว์ แต่ถ้ามีคนเข้าใจและส่งเสริม ก็สามารถผ่านไปได้ หวังแต่ว่า เวลาเรามีความทุกข์หรือมีกิเลสที่ต้องฝ่าฟันจะมีคนที่เข้าใจและอยู่เคียงข้างเรานะคะ

    นิดหน่อย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ29/7/53 21:03

    ดูรายการนิทานชาดกสิคะ ได้ข้อคิดและได้ฟังคำอธิบายข้อข้องใจจากอาจารย์แอน ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 7.30-8.00น.ทาง
    true ช่อง 8 ทุกเสาร์-อาทิตย์ ต้องตื่นมานั่งคอยดูคะ ชอบมาก

    hui251

    ตอบลบ
  3. หนูเล็ก30/7/53 23:25

    หนุว่านิทานยาวไปนิดนึงนะคะ มีนิทานชาดกเรืองสั้น ๆ สำหรับเด็กที่เริ่มอ่านมั้ยคะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุ31/7/53 00:10

    เคยฟังอาจารย์แอน เล่าว่า พระโพธิสัตว์อาจมีบกพร่องบ้างในศีล แต่จะถือสัจจะเป็นที่ยิ่ง และใครมาถามพระโพธิสัตว์ต้องกล่าวคำสัตย์ เรื่องนี้อาจารย์แอนบอกว่านำมาจากชาดกเรื่องนี้แหละ

    ตอบลบ
  5. ประเสริฐ2/8/53 00:24

    ขอให้อาจรย์แอนเล่านิทานชาดกสั้นๆง่ายๆเด็กฟังแล้วนำไปปฏิบัติได้ จะคอยอ่านครับ

    ตอบลบ
  6. มดดำ9/11/53 07:09

    พรราชาเป็นคนที่หนักแน่น ไม่หูเบา ไม่เชื่อคนอื่นง่าย และเป็นคนมีเมตตา ใจกว้าง ให้อภัย (เมื่อพระชายายอมรับ )เห็นประโยชน์ส่วนรวม มากว่าประโยชน์ส่วนตัว ให้โอกาสผู้อื่น หริตจดาบส แม้ทำผิดศีล พระชาก็ยังให้โอกาสในการแก้ไข นับว่าหาได้ยากยิ่งนักค่ะ

    ตอบลบ